จัดฟันต้องทำอะไรบ้าง

ขั้นตอนการจัดฟัน
เมื่อเราเห็นว่าการจัดฟันนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเรา สิ่งต่อไปที่เรามักจะต้องการทราบก็คือ การจัดฟันนั้น จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง แน่นอนว่า การจัดฟันนั้นมีขั้นตอนหลากหลาย และใช้เวลานาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เราสามารถแบ่งการจัดฟันออกได้เป็น 3 ขั้นตอนคือ ขั้นการเตรียมตัวก่อนการจัดฟัน ระหว่างการจัดฟัน และหลังการจัดฟัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ขั้นตอนของการเตรียมตัวก่อนการจัดฟัน
ในขั้นตอนนี้จะเริ่มจากให้ทันตแพทย์เฉพาะทางในสาขาของการจัดฟันตรวจฟันโดยละเอียด จากนั้นทันตแพทย์จะวินิจฉัยว่าสามารถจัดฟันได้หรือไม่ หากสามารถทำได้ก็จะพูดคุยกับคนไข้เกี่ยวกับแนวทางในการรักษา ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ทันตแพทย์จะตรวจเช็คสภาพฟันและช่องปากโดยละเอียด พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ ซักประวัติ ประเมินความคาดหวังของคนไข้ และตอบคำถามหากคนไข้มีข้อสงสัย หลังผ่านขั้นตอนนี้คนไข้จะมีความเข้าใจและพร้อมที่จะไปสู้ขั้นตอนต่อไป
  • การบันทึกข้อมูล ในขั้นนี้ คนไข้จะต้องให้ความสำคัญและแจ้งข้อมูลอย่างถูกต้องกับทันตแพทย์ เพราะข้อมูลที่ถูกต้องส่งผลอย่างมากต่อการเลือกแนวทางในการรักษา ในขั้นตอนนี้ จะมีการถ่ายภาพทั้งภายนอกและภายในช่องปาก ทำแบบจำลองฟัน ทั้งแบบพิมพ์ปาก และแบบติจิตอล รวมถึงเอ็กซเรย์ฟันให้เห็นโครงสร้างทั้งหมด
  • เมื่อได้ข้อมูลมา ทันตแพทย์จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์โดยละเอียด ว่าโครงสร้างกระดูกขากรรไกรเป็นอย่างไร มีฟันคุดหรือไม่ กระดูกเป็นปกติหรือไม่ รากฟันเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะวางแผนในการรักษาที่เหมาะสม
  • เมื่อทันตแพทย์วิเคราะห์ข้อมูลแล้วก็จะวางแนงทางในการรักษา ให้ข้อมูลทางเลือกต่าง ๆ เพื่อให้คนไข้ได้เปรียบเทียบและตัดสินใจเลือกเครื่องมือจัดฟันที่เหมาะสมที่สุด
    ขั้นของการจัดฟัน
    เมื่อคนไข้ได้เข้าใจและตัดสินใจเลือกเครื่องมือจัดฟันแล้ว ขั้นการรักษาก็จะเริ่มขึ้น โดยทันตแพทย์จะติดเครื่องมือจัดฟันให้กับคนไข้ และเพื่อให้การรักษาเป็นไปด้วยความราบรื่น ช่วงระหว่างการรักษานี้คนไข้ควรจะต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด มาพบทันตแพทย๋ตรงเวลาตามการนัดหมาย ดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากตามคำแนะนำ เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม และอาจจะต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบ เช่นการเล่นกีฬาที่มีการกระทบกระแทก เป็นต้น
    ระหว่างการติดเครื่องมือจัดฟันนั้น ทันตแพทย์จะนัดคนไข้ให้มาพบเพื่อปรับอุปกรณ์เป็นประจำ อาจจะนัดปรับแต่งทุกเดือน หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของอุปกรณ์ที่เลือกใช้ และคนไข้จะต้องมาพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคนไข้แต่ละคน
    ทุกครั้งที่มาพบทันตแพทย์จะปรับอุปกรณ์ เพื่อดึงฟัน ให้เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ต้องการทีละน้อย จนฟันเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอย่างสมบูรณ์ ก็จะถอดอุปกรณ์จัดฟันออกให้ แต่ทั้งนี้ การนำอุปกรณ์จัดฟันออกยังไม่ถือว่าเสร็จกระบวนการ เพราะคนไข้จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือ ขั้นตอนการดูแลฟันหลังถอดอุปกรณ์จัดฟัน
    ขั้นตอนหลังการจัดฟัน
    ในขั้นนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นขั้นของการดูแลหลังจากถอดอุปกรณ์จัดฟันออกจากปากแล้ว โดยทันตแพทย์จะทำอุปกรณ์พยุงฟัน หรือรีเทนเนอร์ ให้คนไข้สวมใส่เพื่อพยุงให้ฟันที่ได้รับการจัดเอาไว้ อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หลังถอดอุปกรณ์จัดฟันออกใหม่ ๆ ฟันจะยังไม่ยึดแน่นกับกระดูกขากรรไกร จึงต้องใช้รีเทนเนอร์ช่วยยึด โดยในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังถอดอุปกรณ์ ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้คนไข้ใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา ถอดได้เฉพาะเวลารับประทานอาหาร และทำความสะอาดฟันเท่านั้น แต่เมื่อฟันยึดติดกับตำแหน่งใหม่อย่างมั่นคงแล้ว ทันตแพทย์อาจจะสั่งให้ลดเวลาการใส่ลงได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคนไข้แต่ละราย
ย้อนกลับด้านบน